วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พระแสงราชศัสตรา รัชกาลที่ 5 สิ่งล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง



พระแสงราชศัสตราประจำเมืองจันทบุรี(พระแสงฝักทองลงยาราชาวดี)
       ในการเสด็จพระราชดำเนิน เสด็จประพาส เสด็จประพาสต้น ออกตรวจตราราชการตามหัวเมืองใหญ่น้อยและเยี่ยมเยียนดูสารทุกข์สุกดิบของราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 มีบันทึก เรื่องเล่า และเกร็ดเล็กน้อยมากมาย
     
       หลายเรื่องคนทั่วไปรับรู้เป็นอย่างดี แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ อย่างเช่น เรื่องราวของพระแสงราชศัสตรา ในรัชกาลที่ 5 ที่ถือเป็นสิ่งของล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองที่มีความสำคัญยิ่งมาจนถึงปัจจุบันนี้
     
       สำหรับที่มาที่ไปของพระแสงราชศัสตรานั้น “สุรินทร์ ดีมี” วัฒนธรรมจังหวัดตราด หนึ่งในผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี ให้ข้อมูลว่า พระแสงราชศัสตรา หมายถึง อาวุธมีคมของพระมหากษัตริย์ที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องฟันแทง หมายรวมถึงอาวุธทุกชนิด แต่ในกรณีนี้จะหมายความเฉพาะพระแสงดาบ
     
       ส่วนในเอกสารเรื่อง“พระแสงราชศัสตราประจำเมือง” ที่เรียบเรียงโดย “สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์” หนึ่งในหน่วยงานหลักที่ต้องการเผยแพร่ให้สาธารณะชนเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ระบุว่า พระแสงราชศัสตรา มีความสำคัญหลักๆ 2 ประการด้วยกัน
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองตราด(พระแสงด้ามฝักทอง)
       ประการแรก พระแสงราชศัสตราประจำเมืองเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ และเป็นสิ่งสำคัญที่พระราชทานไว้เป็นที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ หรืออีกนัยหนึ่งนั้น พระแสงราชศัสตราแสดงถึงพระราชอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การที่พระมหากษัตริย์พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำมณฑลและเมือง โดยผ่านสมุหเทศาภิบาลมณฑล หรือผู้ว่าราชการเมือง เปรียบดังได้พระราชทานพระราชอำนาจในการปกครองบริหารราชการบ้านเมืองในส่วนภูมิภาคแก่สมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการเมือง ให้ปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะตัดสินลงโทษแก่ผู้ใดเด็ดขาด เหมือนดังเช่นพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่แม่ทัพในสมัยก่อนอีกต่อไป
     
       ประการที่สอง พระแสงราชศัสตราเป็นอาวุธสำหรับแทงน้ำในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีในหัวเมือง ซึ่งเดิมใช้กระบี่หรือดาบซึ่งเป็นเครื่องยศที่พระราชทานให้แก่ผู้ว่าราชการเมืองสำหรับแทงน้ำในพิธี ต่อมาเมื่อเลิกประเพณีพระราชทานเครื่องยศในรัชกาลที่ 4 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริในการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองสำหรับแทงน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสืบมา
     
       โดยในการเสด็จฯเยือนมณฑลฝ่ายเหนือ ในปี พ.ศ. 2444 รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญ คือ การขาดอาวุธสำหรับแทงน้ำในการประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในหัวเมือง จึงมีพระราชดำริให้พระราชทานพระแสงราชศัสตราไว้ประจำเมืองต่างๆ เพื่อใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นมา
พระแสงราชศัสตราลักษณะต่างๆ
       ในขณะที่ สุรินทร์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความสำคัญของพระแสงราชศัสตราว่า เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยายศอย่างหนึ่งในชุดเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันแสดงฐานะความสำคัญขอพระมหากษัตริย์ และพระราชอำนาจอันเป็นอาญาสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งอดีตตราบจนปัจจุบัน
     
       นอกจากนี้ พระแสงราชศัสตรายังถือเป็นเครื่องราชูปโภคประเภทเครื่องราชศัสตราวุธ ซึ่งหมายรวมถึงพระแสงทุกองค์ ทั้งกระบี่ หอก ดาบ งาว หลาว แหลนฯ ในบรรดาพระแสงเหล่านี้มีพระแสงดาบสำคัญองค์หนึ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกใช้ประจำพระองค์ และถือเป็นพระแสงพระจำรัชกาลด้วย
     
       พระแสงราชศัสตราที่เป็นพระแสงดาบ มีชื่อเรียกเฉพาะองค์แตกต่างกันออกไปตามที่มาและลักษณะของพระแสง ทั้งนี้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมในการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา โดยมิได้มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานเฉพาะบุคคล หากแต่มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพระแสงราชศัสตราไว้ประจำตามหัวเมืองใหญ่น้อย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์และเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดิน
     
       ทั้งนี้พระแสงราชศัสตราประจำเมืองแต่ละองค์มีการบ่งบอกถึงลำดับขั้นความสำคัญของเมืองที่ได้รับพระราชทาน คือ เมืองสำคัญที่เป็นสถานที่ตั้งมณฑลเทศาภิบาล พระราชทานพระแสงฝักทองลงยาราชาวดี ส่วนเมืองสามัญทั่วไปพระราชทานพระแสงด้ามฝักทอง
ด้ามพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตราด
       โดยในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองมณฑลและเมืองที่เสด็จฯผ่านรวม 13 องค์ และถ้ารวมในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระแสงราชศัสตราพระราชทานรวม 32 องค์ด้วยกัน ในจำนวนนี้มีการอัญเชิญคืนสำนักพระราชวังในภายหลัง 2 องค์ คือพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพิชัย และพระแสงราชศัสตราประจำเมืองสายบุรี ส่วนพระแสงราชศัสตราประจำเมืองชุมพรไม่ปรากฏหลักฐานว่าเก็บรักษาไว้ที่ใด
     
       สำหรับเมืองสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างเมืองจันทบุรี(มณฑลจันทบุรีในขณะนั้น)และเมืองตราด ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสฯทั้งสองเมืองอยู่บ่อยครั้ง คือมณฑลจันทบุรี 13 ครั้ง และเมืองตราด 12 ครั้ง ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตราด(พระแสงด้ามฝักทอง)ไว้ในการเสด็จประพาสครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2450 โดยมีพระบริรักษ์ภูธร(ปิ๋ว บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองตราดมารับพระราชทาน ณ พลับพลาโรงพิธีเมืองตราด
     
       ส่วนพระแสงราชศัสตราประจำมณฑลจันทบุรี(พระแสงฝักทองลงยาราชาวดี) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่ พระยาวิชยาธิบดี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ที่มารับพระราชทาน ณ พลับพลาโรงพิธี มณฑลจันทบุรี ในวันที่ 15 พ.ย. 2450 ซึ่งเป็นการเสด็จประพาสเมืองจันทบุรีครั้งสุดท้ายเช่นกัน
ด้ามพระแสงราชศัสตราประจำเมืองจันทบุรี
       สำหรับลักษณะของพระแสงราชศัสตราประจำเมืองทุกองค์ จะเป็นดาบไทย ใบดาบตีจากเหล็กกล้าอย่างดีสีขาวเป็นมัน ฝีมือช่างทองหลวง องคต์พระแสงมีความยาวประมาณ 100-110 เซนติเมตร ด้ามยาวประมาณ 31-35 เซนติเมตร ใบยาวปะมาณ 65-75 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ฝักดาบตกแต่ง สลักเสลาลงลวดลายอย่างสวยงาม ประณีตวิจิตร อาทิ ลายเครือเถา ลายสัตว์หิมพานต์ เป็นต้น
     
       พระแสงราชศัสตรามีสิ่งรองรับส่วนใหญ่มี 2 ลักษณะคือ บันไดแก้ว ที่มีเสา 2 เสาลดหลั่นกัน และ พานแว่นฟ้า ที่เป็นพานทองพระมหากฐิน หรือพานเงิน พานแก้วเจียระไน
     
       อย่างไรก็ตามในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะไม่ทรงมีพระราชนิยมที่จะพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเพิ่มเติม แต่พระองค์ท่านทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คงธรรมเนียมโบราณประเพณีเกี่ยวกับการทูลเกล้าถวายพระแสงราชศัสตราไว้
     
       โดยจังหวัดใดที่เคยได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอัญเชิญพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเพื่อทูลเกล้าถวายคืนพระองค์จนกระทั่งเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ จึงพระราชทานคืนโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนในการรับพระราชทานคืนตามธรรมเนียมเดิม
     
       สำหรับเรื่องนี้ สุรินทร์ ให้ข้อมูลว่า ธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของการทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองแด่พระมหากษัตริย์เมื่อพระองค์เสด็จฯประทับ ณ เมืองนั้นๆถือเป็นแบบอย่างธรรมเนียมโบราณราชประเพณีที่สมควรจะอนุรักษ์สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้วยเป็นเอกลักษณ์อันบ่งบอกวิถีชีวิตของคนไทยทุกหมู่เหล่าที่ล้วนผูกพันและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงดำรงฐานะเป็นองค์พระประมุขของชาติมานับแต่ครั้งอดีตตราบจนปัจจุบัน

มี่มาข้อมูล : ASTVผู้จัดการออนไลน์



การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเนียนระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4

ระหว่างวันที่  18 -  19    ณ  อำเภอนาโพธิ์ 

โรงเรียนบ้านหนองน้ำขุ่น กวาดรางวัลชนะเลิศกิจกรรมลูกเสือ ทั้ง 3 ประเภท  ได้แก่
                                        ระดับ ป.1 - 3 การผูกเงื่อนและการเก็บเชือก
  ระดับ ป.4 - 6 การใช้แผนที่เข็มทิศค้นหาเป้าหมาย
ระดับ ม.1 - 3 การจัดการค่ายพักแรม                      
ได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับภาค ที่ จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 24 - 25  ธันวาคม  2553




วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553